ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ
เอไอเอสมีวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ชัดเจนในการผันตัวเองไปเป็น "ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์" โดยการเน้นการขยายและดำเนินงานใน 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ โดยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่งบการเงินรวมของบริษัท จากการให้บริการในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 4G และ 5G ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้การสร้างรายได้จากการใช้งานดาต้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น
นอกจากนั้น ด้วยเหตุที่พฤติกรรมของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีความต้องการเชื่อมต่อกับบุคคลอื่นทั้งภายในและภายนอกครัวเรือน และเนื่องด้วยการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในตลาดปัจจุบันยังคงไม่ทั่วถึง ทำให้เอไอเอสตัดสินใจลงทุนในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เพื่อสร้างบริการเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้าของเอไอเอสในทุกๆ ที่ โดยเอไอเอสเน้นการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ คือเทคโนโลยีใยแก้วนำแสง (FTTx) และให้ความสำคัญกับคุณภาพการให้บริการ ทั้งนี้ เป้าหมายของเอไอเอสคือการเป็นผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์รายสำคัญภายใน 5 ปี
อีกทั้งการบริโภคข้อมูลในอนาคตนั้น จะมิถูกจำกัดเพียงแค่การใช้บริการด้านเสียงและดาต้าเพียงเท่านั้น แต่จะเปิดกว้างไปสู่การใช้บริการ "คอนเทนต์" รูปแบบอื่นๆ เช่น การซื้อ e-book ผ่านช่องทางออนไลน์ รายได้ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ การซื้อภาพยนตร์เพื่อรับชมผ่านมือถือ ฯลฯ เอไอเอสจึงเล็งเห็นว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถแข่งขันในยุคดิจิทัลนี้ได้อย่างแข็งแกร่งเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้คอนเทนต์ใหม่ๆ ของผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ เอไอเอสได้ประกาศการทำธุรกิจด้านดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเน้นใน 5 บริการหลัก ได้แก่ วิดีโอ เกม ธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ คลาวด์ และเอ็มทูเอ็ม (machine-to-machine, M2M)
โปรดคลิก วิสัยทัศน์ และพันธกิจ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
เอไอเอสมีรายได้จากการให้บริการโครงข่ายและการขายซิมและโทรศัพท์ โดยรายได้จากการให้บริการคิดเป็นประมาณ 70-80% ของรายได้รวม ซึ่งรายได้จากการให้บริการประกอบไปด้วยรายได้จากการโทร รายได้จากการให้บริการข้อมูล รายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และรายได้อื่นๆ ปัจจุบันรายได้จากการให้บริการข้อมูลมีมูลค่าสูงกว่ารายได้จากการโทร เนื่องจากลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมจากการโทรปกติ มาเป็นการเล่นอินเทอร์เน็ตบนมือถือมากขึ้น ผ่านคอนเทนต์ต่างๆ เช่น การแชท วิดีโอคอล การเล่นเกม รวมไปถึงการดูภาพยนตร์และโทรทัศน์ผ่านมือถือ
ในส่วนของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ณ ครึ่งปีแรกของปี 2560 รายได้จากธุรกิจนี้มีมูลค่าประมาณ 2% ของรายได้จากการให้บริการ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายความครอบคลุมของบริการและการเติบโตของฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
รายได้จากค่าเชื่อมโยงโครงข่าย เป็นรายได้ที่เอไอเอสได้รับจากผู้ให้บริการรายอื่นจากการโทรเข้าของลูกค้าต่างเครือข่าย อัตราการคิดรายได้จากค่าเชื่อมโยงโครงข่ายถูกกำหนดโดย กสทช. ซึ่งปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 0.27 สตางค์ต่อนาที
โปรดดูการแบ่งแยกรายได้ของช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ด้านล่าง
ต้นทุนของเอไอเอสประกอบไปด้วย ต้นทุนซิมและอุปกรณ์ ต้นทุนการให้บริการโครงข่าย และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
รายได้และต้นทุนของซิมและอุปกรณ์จะสะท้อนอัตรากำไรของการขาย ปัจจุบัน ความสามารถของโทรศัพท์มือถือได้ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว และช่วยกระตุ้นให้ลูกค้ามองหาโทรศัพท์มือถือที่มีราคาและการบริการที่คุ้มค่ากับความต้องการ ผู้ให้บริการจึงใช้กลยุทธ์การทำตลาดที่ผูกกับการขายโทรศัพท์มือถือในการหาลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิม ซึ่งในบางไตรมาสอาจทำให้การขายซิมและอุปกรณ์เกิดขาดทุน เช่น อัตรากำไรจากการขายซิมและอุปกรณ์ในปี 2557-2559 อยู่ที่ 0.8%, -0.8% และ –4.2% ตามลำดับ
ต้นทุนการให้บริการโครงข่ายคิดเป็นประมาณ 70% ของต้นทุนรวม ซึ่งต้นทุนส่วนนี้ประกอบไปด้วย ต้นทุนค่าเชื่อมโยงโครงข่าย ค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ ค่าบริหารโครงข่าย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และต้นทุนอื่นๆ
ต้นทุนค่าเชื่อมโยงโครงข่าย เป็นต้นทุนที่เอไอเอสจ่ายให้แก่ผู้ให้บริการรายอื่น จากการโทรออกของลูกค้าไปยังเครือข่ายอื่น ซึ่งอัตราต้นทุนค่าเชื่อมโยงโครงข่ายถูกกำหนดโดย กสทช. และปัจจุบันอยู่ที่ 0.27 สตางค์ต่อนาที ต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ในอดีตประกอบไปด้วยค่าธรรมเนียมที่ส่งให้ทีโอทีภายใต้สัญญาร่วมการงาน และที่จ่ายให้แก่ กสทช. ภายใต้ระบบใบอนุญาต ทั้งนี้ ตั้งแต่ไตรมาส 3/2559 ต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้จะคิดเป็นประมาณ 5% ของรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย) เนื่องจากสัญญาร่วมการงานได้หมดอายุลงและเอไอเอสให้บริการบนระบบใบอนุญาตเพียงอย่างเดียว ต้นทุนโครงข่ายประกอบไปด้วย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ ค่าเช่าพื้นที่ และค่าระบบเชื่อมต่อ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามการขยายโครงข่าย ส่วนต้นทุนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ประกอบด้วยต้นทุนของค่าใบอนุญาต และงบลงทุนโครงข่ายที่เอไอเอสให้บริการ ในขณะที่ต้นทุนอื่นๆ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยค่าคอมมิชชั่นของระบบเติมเงิน ต้นทุนของคอลเซ็นเตอร์ และต้นทุนค่าคอนเทนต์
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของต้นทุนรวม ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายการตลาด ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญ และค่าเสื่อมราคาของการขยายช็อปและสินทรัพย์คงทนต่างๆ
โปรดดูการแบ่งแยกต้นทุนสำหรับครึ่งปีแรกของปี 2560 ด้านล่าง
ณ ไตรมาส 2/2560 เอไอเอสมีจำนวนคลื่นความถี่ทั้งสิ้น 40 เมกะเฮิรตซ์ บนระบบใบอนุญาต ได้แก่ คลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ (จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์) คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์) และคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์) โดยคลื่นความถี่แต่ละคลื่นถูกใช้กับเทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับมาตรฐานของเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
ทั้งนี้ เอไอเอสกำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเซ็นสัญญาการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับทีโอที ซึ่งจะทำให้เอไอเอสสามารถใช้คลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ ได้ตามข้อกำหนดในสัญญา
เอไอเอสได้ชำระเงินสดค่าใบอนุญาต 2100เมกะเฮิรตซ์ ครบถ้วนแล้วในเดือนธันวาคม 2558 สำหรับใบอนุญาตการใช้งานคลื่นพี่ 1800 และ 900เมกะเฮิรตซ์ มีกำหนดการชำระในแต่ละปี ดังนี้
ตารางการชำระค่าใบอนุญาต | ||
---|---|---|
1800 เมกะเฮิรตซ์ | 900 เมกะเฮิรตซ์ | |
2560 | 1 หมื่นล้านบาท | - |
2561 | 1 หมื่นล้านบาท | 4 พันล้านบาท |
2562 | - | 4 พันล้านบาท |
2563 | - | 6 หมื่นล้านบาท |
สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เอไอเอให้บริการระบบรายเดือนภายใต้แบรนด์ "เอไอเอสรายเดือน (AIS Postpaid)" และบริการระบบเติงเงินภายใต้แบรนด์ "เอไอเอสวันทูคอล (AIS One-2-Call)" นอกจากนี้ เอไอเอสให้บริการโทรข้ามแดนอัตโนมัติ หรือโรมมิ่ง สำหรับลูกค้าเอไอเอสที่จะใช้งานการโทรหรือเล่นอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศโดยไม่ต้องเปลี่ยนซิม ซึ่งเอไอเอสมีผู้ให้บริการโครงข่ายที่เป็นคู่ค้าในกว่า 229 ประเทศทั่วโลก และลูกค้าในประเทศสามารถโทรออกต่างประเทศได้ โดยผ่านโทรศัพท์แบบมีสายด้วยบริการโทรตรงออกต่างประเทศ (International Direct Dialing) ในช่วงที่ผ่านมา เอไอเอสได้เริ่มทำการตลาดด้านโทรศัพท์มือถือภายใต้แบรนด์ "AIS Super Combo" ด้วย
สำหรับเอไอเอส ไฟเบอร์ ซึ่งเป็นแบรนด์ของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 โดยให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสู่ครัวเรือนผ่านเทคโนโลยีใยแก้วนำแสง (FTTx) โดยตั้งต้นแพ็กเกจที่ราคา 590 บทา สำหรับความเร็ว 20/7 Mbps พร้อมกล่อง AIS PLAYBOX ซึ่งเป็นกล่องคอนเทนต์แพลทฟอร์มในรูปแบบ on-demand เพื่อให้ลูกค้าได้รับชมโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เกม คาราโอเกะ ทั้งแบบฟรีและแบบพิเศษที่ลูกค้าต้องจ่ายค่าบริการเสริม
สำหรับธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ ในช่วงต้นปี 2559 เอไอเอสได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น "AIS PLAY" ซึ่งเป็นวิดีโอแพลทฟอร์มที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ AIS PLAY เป็นบริการเดียวที่ได้รับสิทธิในการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกส์ (RIO 2016 Olympic) และพาราลิมปิกส์จากเมืองริโอ (RIO 2016 Paralympics) เอไอเอสมีบริการ "mPAY" ซึ่งเป็นชื่อของบริษัทลูกและเป็นชื่อแอพพลิเคชั่นสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินบนมือถือ ปัจจุบัน mPAY มีลูกค้าใช้งานเป็นประจำมากกว่า 400,000 ราย นอกจากนั้น ในเดือนกรกฎาคม 2559 เอไอเอสได้เปิดตัวบริการ "AIS Business Cloud" เพื่อให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ภายในประเทศ โดยมีบริการที่แตกต่างจากทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ระดับ Tier-4 และบริการแบบ managed service ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดอ่านหัวข้อ “ผลิตภัณฑ์และบริการ” ใน รายงานประจำปี
ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
เอไอเอส ไฟเบอร์ ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยใช้เทคโนโลยีใยแก้วนำแสง ซึ่งสามารถให้ความเร็วปัจจุบันได้สูงสุดถึง 1 Gbps และมีความเสถียรมากกว่าเทคโนโลยี ADSL ซึ่งสามารถก่อให้เกิดการใช้งานอื่นๆ นอกเหนือจากการเข้าเว็บไซต์ อีเมล หรือโซเชียลมีเดีย เช่น การดูวิดีโอสตรีมมิ่ง การใช้งานอุปกรณ์หลายๆ เครื่องพร้อมกัน การเล่นเกมออนไลน์ รวมไปถึงการใช้งานกล้องวงจรปิดความละเอียดสูง เป็นต้น
เอไอเอส ไฟเบอร์แบ่งแพ็กเกจออกเป็น 2 ประเภท คือ แพ็กเกจ PowerHome สำหรับการใช้งานที่บ้าน และแพ็กเกจ PowerPro สำหรับธุรกิจ ซึ่งให้ความเร็วตั้งแต่ 20/7 Mbps ที่ราคา 590 บาทต่อเดือน จนถึงความเร็ว 1,000/200 Mbps ที่ราคา 19,990 บาทต่อเดือน
นอกจากบริการอินเทอร์เน็ตปกติ เอไอเอส ไฟเบอร์ยังได้ให้ AIS PLAYBOX ซึ่งรวมสื่อบันเทิงต่างๆ มากมาย เช่น รับชมโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ซีรีย์ รวมถึงคาราโอเกะ ด้วยความคมชัดระดับ HD
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอไอเอส ไฟเบอร์ คลิก www.ais.co.th/fibre.
เป้าหมายของเอไอเอส ไฟเบอร์ ใน 3-5 ปี คือการเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการรายสำคัญในตลาดธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
โดยปกติ ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งเน้นการขยายความครอบคลุมของบริการ และการหาลูกค้าเพิ่ม ณ ตอนนี้บริษัทยังไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และกำไรได้
ณ เดือนกันยายน 2559 เอไอเอส ไฟเบอร์ มีบริการใน 24 จังหวัด โดยภายในสิ้นปี 2559 จะมีบริการครอบคลุมเต็มกรุงเทพมหานคร ส่วนในต่างจังหวัด ความครอบคลุมจะอยู่ในส่วนเมือง โดยแผนสำหรับที่เหลือของปี คือการขยายพื้นที่บริการเพื่อให้เข้าถึงครัวเรือนที่ต้องการใช้งานเพิ่มเติม
นอกเหนือจากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เอไอเอส ไฟเบอร์ ได้ติดตั้ง AIS PLAYBOX ให้ฟรีสำหรับการรับชมสื่อบันเทิงต่างๆ เช่น โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ซีรีย์ คาราโอเกะ ด้วยคุณภาพระดับ HD ในอนาคตอันใกล้ จะมีบริการที่ควบรวมกับบริการมือถือมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหากลูกค้าเอไอเอสในระบบรายเดือนต้องการใช้งานเอไอเอส ไฟเบอร์ ก็จะได้รับส่วนลดรายเดือนด้วย
ธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิส
ธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิส เป็นธุรกิจใหม่ของเอไอเอส ซึ่งช่วยเสริมให้ภาพการเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ของบริษัทครบสมบูรณ์ โดยในระยะกลางถึงยาว บริษัทเชื่อว่าสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคใช้งาน จะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีสินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคดิจิทัล รวมถึงตอบโจทย์การทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ของลูกค้าองค์กร โดยเห็นว่า 5 แกนที่สำคัญในการให้บริการดิจิทัลเซอร์ ได้แก่ วิดีโอคอนเทนต์ คลาวด์สำหรับองค์กร ธุรกรรมทางการเงินบนมือถือ IoT และเกม
ในภาพรวม เอไอเอสใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงบนธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเซอร์วิสที่แข็งแรง และเชื่อมต่อกับพันธมิตรเพื่อนำสินค้ามาให้บริการแก่ลูกค้าเอไอเอส โดยเน้นใช้รูปแบบธุรกิจแบบส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งเอไอเอสเชื่อว่า การเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของระบบนิเวศในยุคดิจิทัล จะช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีกว่า ภายใต้ความเสี่ยงที่จำกัด
สำหรับธุรกิจด้านวิดีโอคอนเทนต์ ในช่วงไตรมาส 2/2560 เอไอเอสได้ประกาศการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์ชั้นนำในต่างประเทศหลายราย เช่น HBO FOX Network Warner Brothers Netflix VIU และอื่นๆ รวมถึงผู้ให้บริการภายในประเทศเช่น WORK และ GMM เพื่อนำคอนเทนต์ระดับพรีเมี่ยม มาให้บริการลูกค้าเอไอเอส ทั้งบนระบบโทรศัพท์มือถือผ่านแอพพลิเคชั่น AIS PLAY และบนระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านกล่อง AIS PLAYBOX โดยเน้นสร้างความแตกต่างเฉพาะสำหรับลูกค้าเอไอเอส และความหลากหลายของคอนเทนต์ เพื่อยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า และเพิ่มความผูกพันกับแบรนด์ โดยในระยะยาว เอไอเอสคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม จากการบริโภคคอนเทนต์ของลูกค้า ต่อยอดจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือได้
เอไอเอสเริ่มให้บริการคลาวด์สำหรับองค์กรในช่วงปลายปี 2559 จากความต้องการใช้งานคลาวด์เพื่อทดแทนระบบไอทีแบบเดิมที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงปีแรกนี้ เอไอเอสตั้งเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้า โดยลงทุนในการสร้างทีมขายและจัดจำหน่ายที่แข็งแรง นอกจากนั้น คลาวด์สำหรับองค์กรของเอไอเอส มีความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ โดยให้บริการแบบ end-to-end ตั้งแต่การวางระบบ Transmissions การให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ (Tier-4 grade) รวมถึงการให้บริการ platform-as-a-service (PaaS) และ software-as-a-service (SaaS) พร้อมทีมผู้ชำนาญการเพื่อให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง โดยเอไอเอสเชื่อว่า จากแนวโน้มในปัจจุบัน ธุรกิจคลาวด์สำหรับองค์กร จะสามารถเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติมที่สำคัญในอนาคต
เอไอเอสได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการทำธุรกรรมทางการเงินบนมือถือมาเป็นเวลาหลายปี ผ่านบริษัทย่อยที่ชื่อว่า mPAY โดยเป็นแพลตฟอร์ม e-wallet บนมือถือ ทั้งนี้ mPAY เป็นหนึ่งในช่องทางเติมเงินของลูกค้าระบบเติมเงินของเอไอเอส และอยู่ในช่วงขยายฐานการให้บริการธุรกรรมทางการเงินบนมือถือ ผ่านการเป็นพันธมิตรกับลูกค้าธุรกิจรายย่อย รวมถึงธนาคารต่างๆ โดย mPAY เป็นผู้ให้บริการรายแรกๆ ในประเทศไทย ที่เปิดให้บริการแพลตฟอร์ม QR code และสนับสนุนให้พันธมิตรใช้วิธีการชำระเงินบนมือถือผ่านระบบ QR code มากขึ้น
Internet of Things หรือ IoT เป็นการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์จำนวนหลายล้านชิ้นในระบบนิเวศดิจิทัล ที่จะมีการใช้งานมากขึ้นในยุค 5G ในฐานะผู้นำในตลาด เอไอเอสได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ในการหาโซลูชั่น เพื่อยกระดับมาตรฐานการใช้ชีวิตของลูกค้าในยุคดิจิทัล หนึ่งในตัวอย่างที่เอไอเอสกำลังพัฒนา คือการใช้งานเทคโนโลยี NB-IoT (Narrowband IoT) ซึ่งใช้จำนวนคลื่นความถี่ปริมาณน้อย แต่มีความเสถียรในการเชื่อมต่อสูงและใช้พลังงานต่ำ โดยเอไอเอสร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเริ่มทดลองใช้ระบบ Smart Tracking เพื่อหาที่จอดรถที่ว่างภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนั้น เอไอเอสกำลังขยายรูปแบบการให้บริการอื่นๆ เช่น การทํา Smart Metering ในการวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าและน้ำแบบอัตโนมัติ รวมถึง Smart City เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายของการอยู่อาศัยภายในบ้าน
ท้ายสุด เอไอเอสเห็นโอกาสในการสร้างรายได้จากการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือสำหรับการเล่นเกม โดยในช่วงต้นนี้ เอไอเอสให้บริการ operator billing โดยลูกค้าที่ซื้อไอเทมเกม จะสามารถชำระเงินผ่านบิลของเอไอเอสได้
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีผู้ให้บริการหลัก 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการที่เป็นผู้นำทั้งในด้านรายได้ และด้านจำนวนลูกค้ามาโดยตลอด อุตสาหกรรมเริ่มจากเทคโนโลยี 1G และ 2G ภายใต้ระบบสัญญาร่วมการงาน หรือสัมปทาน ซึ่งผู้ให้บริการได้รับสิทธิในการใช้คลื่นความถี่จากหน่วยงานของรัฐภายใต้สัญญา Built-Transfer-Operate (BTO)
หลังจากที่ กสทช. ถูกตั้งขึ้นในปี 2553 คณะกรรมการได้จัดประมูลคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ในปี 2555 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย การประมูลคลื่นความถี่นี้ นอกจากจะถูกกำกับภายใต้ระบบใบอนุญาต ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของนานาชาติในการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม และก่อให้เกิดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ยังเป็นการช่วยสนับสนุนให้ผู้ให้บริการได้ให้บริการเทคโนโลยีใหม่ เช่น 3G และ 4G ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากเทคโนโลยี 2G ถูกให้บริการในประเทศไทยมากว่า 20 ปี การเปลี่ยนเข้าสู่เทคโนโลยี 3G ทำให้จำเป็นต้องมีการอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์มือถือ ซึ่งการอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์มือถือถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดตั้งแต่ประมาณปี 2557 ปัจจุบัน ลูกค้าที่ยังใช้งานมือถือ 2G ยังคงเหลือประมาณ 15% ของลูกค้าทั้งหมด และมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากลูกค้าเริ่มเปลี่ยนมาใช้งานสมาร์ทโฟนมากขึ้น แม้ว่าลูกค้าส่วนมากยังคงมีการใช้งาน 3G แต่มือถือที่รองรับ 4G ได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราคาที่ถูกลง รวมทั้งความต้องการใช้งานเทคโนโลยี 4G ความเร็วสูงมีมากขึ้น
การให้บริการ 4G และการแข่งขันด้านความเร็วของโครงข่าย 4G ได้เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในปี 2558 ผู้ให้บริการได้แบ่งคลื่นความถี่เพื่อนำมาให้บริการ 4G มากขึ้น และ กสทช. ได้จัดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2558 ตามลำดับ เพื่อเพิ่มคุณภาพของอุตสาหกรรมในการให้บริการ 3G และ 4G ให้ดียิ่งขึ้น ความเร็วของ 4G ได้กลายมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้งานสูง ซึ่งผู้ให้บริการต่างก็เร่งขยายโครงข่าย 4G เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานของลูกค้าที่มียอดใช้จ่ายสูงนี้
ถึงแม้ว่าการแข่งขันในช่วงนี้จะค่อนข้างเข้มข้น ในการนำเสนอบริการและแคมเปญอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการกดดันการทำกำไรของอุตสาหกรรม แต่ผู้ให้บริการทุกรายได้แข่งขันอยู่บนรากฐานของการให้บริการโครงข่ายที่มีคุณภาพ และยังคงหาทางในการหารายได้เพิ่มเติมจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือของไทย เป็นตลาดที่มีผู้แข่งขัน 3 ราย และมีอัตราการใช้งานเลขหมายสูงกว่า 120% ของประชากร ณ ไตรมาส 2/2559 ประเทศไทยมีประชากรราว 65 ล้านคน มีเลขหมายรวมทั้งสิ้น 85 ล้านเลขหมาย ซึ่งประมาณ 85% เป็นเลขหมายระบบเติมเงิน เนื่องจากตลาดระบบเติมเงินมีขนาดใหญ่ แพ็กเกจการใช้งานจึงถูกออกแบบและนำเสนออยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เลขหมายระบบรายเดือนนั้นมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่าน เนื่องจากลูกค้าต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือได้อย่างต่อเนื่อง ลูกค้าที่ใช้งานระบบรายเดือนมีรายได้ต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) สูงกว่าระบบเติมเงินประมาณ 3 เท่า โดยปกติลูกค้าระบบรายเดือนจะไม่ติดสัญญา แต่การผูกสัญญา (โทรศัพท์มือถือกับแพ็กเกจ) เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ลูกค้าสามารถย้ายค่ายจากผู้ให้บริการหนึ่งไปยังอีกผู้ให้บริการหนึ่งได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ ผ่านระบบคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP) โดยรวม ตลาดมีการแข่งขันค่อนข้างสูง
ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยมีการขยายพื้นที่ให้บริการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตเมือง หลังจากที่เอไอเอส ไฟเบอร์ได้เข้าสู่ตลาดในปี 2558 ทำให้ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกลายเป็นตลาดที่มีผู้เล่น 4 ราย ณ ไตรมาส 2/2559 มีจำนวนครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 6.5 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 32% ของครัวเรือนรวมทั้งหมด ซึ่งเกือบทั้งหมดให้บริการโดยผู้ให้บริการเดิมในตลาด (ทรูออนไลน์ 3BB และทีโอที) ส่วนเอไอเอส ไฟเบอร์มีลูกค้า 115,000 ราย ลูกค้าเกือบทั้งหมดยังคงใช้เทคโนโลยี ADSL ซึ่งให้ความเร็วได้ไม่เกิน 20 Mbps ปัจจุบัน คอนเทนต์ด้านวิดีโอสตรีมมิ่ง หรือวิดีโอระดับ HD ต้องการความเร็วที่สูงขึ้น ซึ่ง ADSL จะไม่สามารถตอบสนองการใช้งานดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับเทคโลยีใยแก้วนำแสง ความเร็วของอินเทอร์เน็ตสามารถให้ได้สูงถึง 1 Gbps ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกำลังขยายตัว โดยขับเคลื่อนจากความต้องการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ เช่น ใยแก้วนำแสง ในขณะที่ความจำเป็นในการเชื่อมต่อภายในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของเมืองใหญ่
ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการแบบไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองหลายราย ซึ่งต้องเช่าใช้คลื่นความถี่และอุปกรณ์โครงข่ายจากผู้ให้บริการรายอื่น ทั้งนี้ ผู้ให้บริการแบบไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองจะมีกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง และผู้ให้บริการแบบไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองรายใหญ่ที่สุดมีลูกค้าน้อยกว่า 1 ล้านเลขหมาย
พรบ.โทรคมนาคมฉบับปัจจุบัน ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในปี 2544 ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดใน พรบ. ได้ ที่นี่ โดย พรบ.โทรคมนาคมอธิบายถึงประเภทของใบอนุญาต และคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาต รวมทั้งการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม มาตรฐานของโครงข่ายโทรคมนาคมและอุปกรณ์ สิทธิของผู้รับใบอนุญาตและของผู้ใช้บริการ สัญญาให้บริการโทรคมนาคม ค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม และการกำกับดูแล การบังคับทางปกครอง และบทลงโทษ
กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับการดำเนินงานของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ดำเนินงานภายใต้ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี 2553 และสามารถอ่านรายละเอียดใน พรบ. ได้ ที่นี่ โดย พรบ.ฉบับนี้อธิบายเกี่ยวกับการคัดเลือกและหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช. แนวทางการจัดทำแผนและการจัดสรรคลื่นความถี่ การกำกับดูแลการประกอบกิจการของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กองทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ และหน้าที่ของสำนักงาน กสทช.
ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งหลายส่วนในรัฐบาลกำลังดำเนินงานตามนโยบายใหม่เพื่อไปในแนวทางเดียวกัน สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ปัจจุบัน พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่กำลังถูกร่างขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยสามารถอ่านรายละเอียดร่าง พรบ.ฉบับใหม่นี้ ได้ ที่นี่ นอกจากนั้น คณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบันจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนตุลาคมปี 2560 นี้
การกำกับเรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการ เป็นการกำกับอัตราค่าบริการสูงสุดต่อหน่วยที่ผู้ให้บริการสามารถเรียกเก็บจากลูกค้าได้ สำหรับบริการ 4G อัตราค่าบริการขั้นสูงสำหรับบริการการโทรและบริการอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 0.69 บาทต่อนาที และ 0.26 บาทต่อเมกะไบต์ ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการเรียกเก็บค่าบริการภายใต้เกณฑ์ดังกล่าวอยู่แล้ว
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอยู่ภายใต้ระบบสัญญาร่วมการงานหรือสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายอายุของสัญญาร่วมการงานที่แตกต่างกัน ภายใต้สัญญาร่วมการงาน ผู้ให้บริการจะต้องลงทุนสร้างโครงข่าย โอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้แก่รัฐ ให้บริการโครงข่ายแก่ประชาชน และจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐประมาณ 20-30% ของรายได้ สัญญาร่วมการงานของเอไอเอสบนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ สิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2556 ในขณะที่สัญญาร่วมการงานบนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ สิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2558 ช่วงเวลาหลังจากสิ้นสุดสัญญาร่วมการงาน บริษัทดำเนินงานภายใต้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดสัมปทาน จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 และวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ที่การจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ผ่านกระประมูลสำเร็จลุล่วง ปัจจุบัน เอไอเอสดำเนินกิจการภายใต้ระบบใบอนุญาต ซึ่งกำกับดูแลโดย กสทช. อย่างสมบูรณ์
ภายใต้ระบบใบอนุญาต ผู้ให้บริการมีสิทธิในความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ และยังคงต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่ากองทุนวิจัยและพัฒนา (USO) รวม 5.25% ของรายได้ให้แก่ กสทช. นอกจากนั้น ผู้ให้บริการยังต้องปฏิบัติตาม พรบ.อื่นๆ ที่มีการประกาศใช้เพื่อกำกับกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ พรบ.โทรคมนาคม ปี 2544 พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 รวมทั้งประกาศอื่นๆ เช่น การมีอำนาจเหนือตลาด (Single Market Power) อัตราการคิดค่าบริการขั้นสูง (Price Cap) และการควบคุมคุณภาพการให้บริการ เป็นต้น