การต่อต้านการให้หรือรับสินบนและการคอร์รัปชั่น

เอไอเอสยึดมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เอไอเอสจึงกำหนดนโยบายในการต่อต้านการให้หรือรับสินบนและการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ด้วยตระหนักดีว่าการให้หรือรับสินบนและการคอร์รัปชั่นนั้นเป็นภัยร้ายแรงที่ทำลายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอไอเอสไม่มีการจ่ายเงินให้กับพรรคการเมือง หรือการให้ค่าอำนวยความสะดวกที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดจริยธรรมทางธุรกิจ สำหรับการบริจาคเพื่อการกุศล สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เมนู “การพัฒนาสู่ความยั่งยืน”

นโยบายการต่อต้านการให้หรือรับสินบนและการคอร์รัปชั่น

เอไอเอสประกาศใช้นโยบายต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น เพื่อวางแนวทางปฏิบัติงานให้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ และเพื่อให้บริษัทสามารถปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และป้องกันไม่ให้บริษัท กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสีย ดำเนินการใด ๆ ก็ตามที่อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น

สาระสำคัญของนโยบายดังกล่าว:

  • เอไอเอสมีนโยบายเป็นกลางทางการเมือง โดยจะไม่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งในรูปแบบของตัวเงิน และที่มิใช่ตัวเงิน
  • ในการบริจารเพื่อการกุศล เอไอเอสจะสนับสนุนทั้งในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือในรูปแบบอื่นๆ โดยจะไม่มุ่งหวังผลทางธุรกิจเป็นการตอบแทน และจะระมัดระวังไม่ให้การสนับสนุนดังกล่าวถูกนำไปใช้เป็นวิธีหลีกเลี่ยงในการให้สินบน
  • เอไอเอสไม่มีนโยบายจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวก
  • เอไอเอสไม่อนุญาตให้พนักงานให้หรือรับของขวัญหรือค่าใช้จ่ายเลี้ยงรับรองจากพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดจริยธรรมที่ดีทางธุรกิจ

การได้รับการรับรองเป็นสมาชิกโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต

เอไอเอส ได้รับการรับรองต่ออายุการรับรองเป็นสมาชิกโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption: CAC) เป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยใบรับรองดังกล่าวจะมีอายุ 3 ปี นับจากวันที่มีมติให้การรับรอง ทั้งนี้ การรับรองเป็นสมาชิกดังกล่าวเป็นการตอกย้ำและแสดงถึงว่าบริษัทและกลุ่มบริษัทได้นำขั้นตอนและหลักการสำคัญของแนวปฏิบัติของนโยบายต่อต้านการให้หรือรับสินบนและการคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติใช้ได้ทั้งหมดซึ่งครอบคลุมกระบวนการดําเนินงานต่าง ๆ อย่างจริงจัง เช่น การบริจาคเพื่อการกุศลและการเป็นผู้ให้การสนับสนุน การบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นต้น

โดยในปี 2566 ได้จัดให้มีการประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมธุรกิจและการต่อต้านการให้หรือรับสินบน และการคอร์รัปชั่นกับคู่ค้า ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนในกรอบระยะเวลาทุกๆ สามปี และได้ประกาศแนวปฏิบัติ “งดรับของขวัญ” (No Gift Policy) ในช่วงเทศกาลปีใหม่และในทุกช่วงเทศกาล รวมถึงผู้บริหารและพนักงานของบริษัทได้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) รัฐบาลไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของบริษัท ภายใต้แนวคิด “Zero Tolerance” ในวันที่ 6 กันยายน 2566 และวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ตามลำดับ