เอไอเอส เดินหน้ามอบโอกาส สร้างอาชีพให้ผู้พิการ เปิด เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ จ.ขอนแก่น

>

25 พฤศจิกายน 2558: เอไอเอส เดินหน้ามอบโอกาส สร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการ ในโครงการ “เอไอเอส สร้างอาชีพ คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ล่าสุดเปิด “ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการทางร่างกาย” ขึ้นเป็นแห่งที่ 8 ณ โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น

นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวถึงนโยบายในการจัดทำโครงการเพื่อสังคมของเอไอเอสว่า “เอไอเอสมีความตั้งใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) มาโดยตลอด ด้วยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและประเทศไทย ให้มีคุณภาพและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” ในแนวทางสนับสนุนสถาบันครอบครัว , เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม , ให้โอกาสและช่วยเหลือสังคม รวมถึงการสร้างคุณค่าและประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรและสังคม หรือ CSV (Creating Shared Value) กับ โครงการ “เอไอเอส สร้างอาชีพ คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ”

นางวิลาสินี พุทธิการันต์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านลูกค้าและบริการ เอไอเอส กล่าวเพิ่มเติมว่า “เนื่องจากเอไอเอสเล็งเห็นศักยภาพของผู้พิการว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถ ทั้งเรื่องการทำงานและมีจิตใจบริการ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานเอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ดังนั้นในปี พ.ศ.2550

เอไอเอสได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยผลการให้บริการของพนักงานผู้พิการอยู่ในระดับที่ดีเยี่ยม ทั้งในแง่ของการให้บริการและความพึงพอใจของลูกค้า

เอไอเอสจึงเดินหน้าส่งมอบโอกาสสร้างอาชีพให้ผู้พิการอย่างต่อเนื่อง โดยขยายศูนย์ปฏิบัติการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ล่าสุด เอไอเอสจึงเปิด “ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการทางร่างกาย แห่งที่ 8” ขึ้น ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น ทำให้ปัจจุบันมีพนักงานเอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ผู้พิการจากศูนย์ปฏิบัติการที่เปิดให้บริการแล้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 78 คน ได้แก่ อาคารพหลโยธินเพลส กรุงเทพฯ จำนวน 16 คน , มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรุงเทพฯ จำนวน 8 คน , โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 8 คน , มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ จังหวัดชลบุรี จำนวน 8 คน , โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ จังหวัดหนองคาย จำนวน 9 คน , โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ จำนวน 11 คน , มูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง จ.ลำปาง จำนวน 8 คน และโรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น จำนวน 10 คน

โดยเอไอเอสได้ออกแบบงานให้คนกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม เพื่อการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับความสามารถ อาทิ ผู้พิการทางสายตาและพิการทางร่างกาย จะมีหน้าที่โทรติดต่อลูกค้าเพื่อแจ้งสิทธิพิเศษและเสนอบริการรวมทั้งแคมเปญต่างๆ ของเอไอเอส , ให้บริการรับ-ส่งแทนลูกค้า และให้บริการยกเลิก SMS แทนลูกค้า ส่วนผู้พิการทางการได้ยินจะให้บริการ คอลล์ เซ็นเตอร์ภาษามือผ่านทาง Web Cam เป็นต้น นอกจากนี้เอไอเอสยังนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการปฏิบัติงานของคนกลุ่มนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน อาทิ ติดตั้งโครงข่ายออนไลน์ , นำเทคโนโลยีดักจับความเคลื่อนไหวที่คีย์บอร์ด หรือสิ่งที่แสดงผลบนหน้าจอ และเปลี่ยนเป็นเสียงพูด ซึ่งต้องใช้ควบคู่กับโปรแกรมตาทิพย์จากสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น”

“เอไอเอสพร้อมที่จะนำเทคโนโลยี ทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ รวมทั้งศักยภาพขององค์กรมาช่วยเหลือสังคม และสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้แก่คนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้พิการ เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับโอกาสในการแสดงศักยภาพของตนเอง ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทุกคนแข็งแรง พร้อมที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างแข็งแรงไปด้วย” นางวิไล กล่าวสรุป

ย้อนกลับ